กระทรวงอุตฯ อัดงบเพิ่ม 4 พันล้าน หนุนสินเชื่อประชารัฐช่วยเอสเอ็มอี

กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ขยายกรอบวงเงินสินเชื่อกองทุนประชารัฐ ปีงบประมาณ 2565 เพิ่ม 4,000 ล้านบาท รวมเป็น 6,000 ล้านบาท ภายหลังจากที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 3,500 กิจการทั่วประเทศมีความต้องการขอสินเชื่อ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กิจการและพัฒนาขีดความสามารถ

นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้อำนวยการกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2565 แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น กองทุนฯ จึงออกแบบโครงการสินเชื่อ 3 โครงการ วงเงิน 2,000 ล้านบาท ได้แก่

โครงการสินเชื่อเพิ่มศักยภาพเอสเอ็มอี สำหรับกลุ่มเอสเอ็มอีที่ดำเนินธุรกิจ BCG วงเงิน 1,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 15 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้นานสูงสุด 10 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 18 เดือน

โครงการสินเชื่อสร้างโอกาสและเสริมสภาพคล่องเอสเอ็มอี เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่สนใจอยากได้เงินทุน วงเงิน 500 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 2 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้นานสูงสุด 7 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน ใน 8 กลุ่มธุรกิจ คือ กลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว , กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป, กลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น, กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน, กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก, กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง และกลุ่มอุตสาหกรรมโลจิสติกส์

โครงการสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูเอสเอ็มอี สำหรับกลุ่มลูกค้าเดิมที่อยู่ในระหว่างการผ่อนชำระสินเชื่อของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ซึ่งจะช่วยเติมทุนให้กับผู้ประกอบการเพื่อฟื้นฟูธุรกิจได้ วงเงิน 500 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 3 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้นานสูงสุด 7 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน

โดยทั้ง 3 โครงการ ได้เปิดรับสมัครคำขอผ่านช่องทางออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค.2565 มีผู้ยื่นคำขอสินเชื่อเต็มวงเงิน 2,000 ล้านบาทภายใน 3 สัปดาห์แรก แต่ยังมีผู้ประกอบการจำนวนมากที่ยื่นความจำนงต้องการสินเชื่อเพิ่มเติมอีกกว่า 4,000 ล้านบาท คณะกรรมการกองทุนฯ ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ได้เห็นชอบขยายกรอบวงเงินสินเชื่อปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ทั้ง 3 โครงการ จากเดิมวงเงิน 2,000 ล้านบาท เพิ่มอีก 4,000 ล้านบาท รวมเป็น 6,000 ล้านบาท ครอบคลุมความต้องการของเอสเอ็มอีที่ประสงค์เข้าถึงแหล่งทุนทั่วประเทศกว่า 3,500 กิจการ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียโอกาสและช่วยผลักดันให้เอสเอ็มอีเดินหน้าต่อไปต่อได้

สำหรับทิศทางการทำงานของกองทุนฯ จะมุ่งเน้นการคิดโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เร่งผลักดันให้เกิดและเพิ่มจำนวนธุรกิจในกลุ่ม BCG ภายในประเทศให้มีจำนวนมากขึ้น ควบคู่กับการส่งเสริมเอสเอ็มอีให้ปรับตัวได้ในยุค Next Normal รวมถึงการบูรณาการกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศในการจัดหาช่องทางการตลาดสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างมั่นคง นายเดชา กล่าวปิดท้าย

ติดต่อสอบถาม